The Missing Picture ภาพที่หายไป

04, August 2014
Share   0 
The Missing Picture ภาพที่หายไป
The Missing Picture ภาพที่หายไป

ภาพยนตร์สารคดีสัญชาติกัมพูชา-ฝรั่งเศส โดยฝีมือผู้กำกับมือเก๋าชาวกัมพูชาอย่าง Rithy Panh เจ้าของผลงานสารคดีเกี่ยวกับเขมรแดงหลายต่อหลายชิ้น และเรื่องล่าสุดเรื่องนี้ The Missing Picture ก็ได้รับความสนใจและคำสรรเสริญอย่างมากทั้งจากการได้รับรางวัล Un Certain Regard ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนังสารคดีเรื่องเดียวในสายประกวดนี้ด้วย

The Missing Picture หรือ ภาพที่หายไป ถูกถ่ายทอดผ่านแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับภาพยนตร์สารคดีอยู่ 2 สิ่ง นั่นคือ ความจริง และความคิดสร้างสรรค์ ปานห์เลือกเล่าความจริงจากประสบการณ์ของตนเองเมื่ออายุ 11 ปี ในวันคืนที่ครอบครัวของเขาต้อง ถูกขับไล่จากบ้านของตนเองในกรุงพนมเปญในช่วงปี 1975 สู่ชนบทแร้นแค้น ประสบการณ์โหดร้ายในมือเขมรแดง และการมองเห็นสมาชิกในครอบครัวลับหายไปทีละคน โดยประกอบกับบทวิพากษ์ของตัวปานห์เองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมากมายในยุคเขมรแดง และประเทศประชาธิปไตยกัมพูชา และความจริงอีกส่วน คือ ฟุตภาพข่าวจากฟิล์มขาวดำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่น่าเชื่อถือเสมอโดยเฉพาะหนังสารคดีที่อิงประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวัตถุหลักฐานเดียวที่ผู้ชมตัดสินได้ด้วยตาของตนเอง ซึ่งสิ่งนี้นำเรื่องเล่าของคนๆหนึ่งไปสู่ความจริงที่ใครก็สัมผัสได้อย่างชัดเจน

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นจุดเด่นที่สุดของหนังเรื่องนี้ วิธีการขยายความจริงของปานห์นั้นมีการคิดและวางแผนอย่างดี เขาเปิดเรื่องด้วยซากกองฟิล์มหนังเก่าที่ชำรุดแต่ก็เหลือรอดมาได้บางส่วน ภาพของนักแสดงสาวกำลังร่ายรำต่อหน้ากล้องอย่างงดงามเชื่องช้า เสียงของผู้เล่า ผ่านน้ำเสียงภาษาฝรั่งเศสของ Randal Douc นักแสดงชาวกัมพูชาเพื่อสื่ออารมณ์ตามที่เขาต้องการ ถ้อยคำที่เขาเลือกใช้ในการเล่า หลายครั้งมันซื่อตรงจนน่าสะเทือนใจ บางครั้งมันก็ตกแต่งราวบทกวีแฝงปรัชญาบางอย่าง ภาพของคลื่นที่ถาโถมเข้ามาใส่กล้องพร้อมเสียงดนตรีพื้นหลังที่ส่ง สัญญาณของการคุกคามบางอย่างอยู่ตลอดเวลา เป็นเทคนิคหลักที่เขาเลือกใช้เพื่อคอยย้ำเตือนอารมณ์คนดู แต่ไม่ได้สร้างอารมณ์ที่ฟูมฟายต่อโศกนาฎกรรมมากนัก

 

การจำลองภาพบุคคลที่หายไปจากความทรงจำ ด้วยการใช้หุ่นดิน ที่แต่งแต้มสีสัน แกะสลักเป็นบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก คนแก่ถูกจัดวางในบ้านจำลอง ต่างทำกิจกรรมประจำวันหลายๆอย่าง ดูมีความสุข ภาพสีน้ำประกอบฉากต่างๆ ประกอบกับการนำเสนอภาพฟุตเทจเหตุการณ์จริงเท่าที่หาได้ของปานห์ ทั้งหมดนี้กลายเป็นความพิเศษของหนังเรื่องนี้ การจำลองเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมชาติแต่กลับสมจริงในการรับรู้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ


หนังเล่าการเปลี่ยนแปลงและโศกนาฏกรรมอย่างลงรายละเอียดทั้งทางภาพและอารมณ์ ความคิด พร้อมกับทิ้งข้อสงสัยในหัวผู้ชมอยู่เสมอว่าอะไรบ้างที่คือภาพที่หายไป อะไรที่เขาหาเจอและหาไม่เจอ

แต่ไม่ว่าภาพที่หายไปในหัวของปานห์จะคืออะไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้วคือการได้สร้าง ภาพแทนความทรงจำที่หลุดหายไป จากทั้งในสื่อกระแสหลักที่คนในปารีสหรือที่ใดไม่เคยได้ดู หรือแม้แต่ในหัวใจของผู้คนทั้งหลายต่อเหตุการณ์ในกัมพูชานี้ให้กลับมามี ชีวิตเพื่อทบทวน เป็นบทเรียน คิดถึง และแก้ไขปัจจุบันหากมันกำลังซ้ำรอย