ฟ้อนผี จิตวิญญาณของชาวล้านนา

21, May 2012
Share   0 
ฟ้อนผี จิตวิญญาณของชาวล้านนาฟ้อนผี จิตวิญญาณของชาวล้านนาฟ้อนผี จิตวิญญาณของชาวล้านนาฟ้อนผี จิตวิญญาณของชาวล้านนาฟ้อนผี จิตวิญญาณของชาวล้านนาฟ้อนผี จิตวิญญาณของชาวล้านนาฟ้อนผี จิตวิญญาณของชาวล้านนาฟ้อนผี จิตวิญญาณของชาวล้านนา
ฟ้อนผี จิตวิญญาณของชาวล้านนา

ในวัฒนธรรมล้านนา ผี เป็นส่วนหนึ่งในวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ตามคติความเชื่อของชาวล้านนานั้น ผี มีอำนาจในการดลบันดาลให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ ให้ความร่มเย็นผาสุกแก่มนุษย์ได้ คนในภพปัจจุบันมักใช้ประโยชน์จากอำนาจวิเศษที่ผีมี โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ ที่ชาวล้านนาจะเรียกว่า ผีมดผีเม็ง ช่วยคุ้มครองดูแล ปกปักรักษาครอบครัว คนในตระกูลให้อยู่อย่างเป็นสุข แม้แต่การรักษาอาการป่วย ผีบรรพบุรุษ ก็ยังคงเป็นที่พึ่งได้อย่างไม่เสื่อมคลาย

เมื่อ ผี ให้อำนาจดลบันดาลความสุขกับมนุษย์แล้ว การตอบแทนบุญคุณผีบรรพบุรุษจึงเริ่มขึ้น ผ่านพิธีกรรมเลี้ยงผี ถือเป็นงานบุญยิ่งใหญ่ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีชื่อเรียกว่า งานฟ้อนผี

หลังฤดูเก็บเกี่ยวนาปี คือช่วง มีนาคม – เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านว่างจากไร่นา ครอบครัว ญาติพี่น้อง จะมารวมตัวกันเพื่อจัดงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ ประเพณีการฟ้อนผี จะจัดขึ้น 2 วัน วันแรกเรียกว่า วันข่าว หรือวันป่าวข่าว คือการบอกญาติพี่น้องในตระกูลเดียวกันให้ไปร่วมชุมนุมที่บ้าน เพื่อเตรียมการจัดงานฟ้อนผี และอีกวันหนึ่ง เป็นวันจริง มีการเชิญผีเข้าทรงและฟ้อนสังเวย

ลูกหลานจะมารวมตัวกัน เพื่อสร้างปะรำ หรือผามสำหรับทำพิธี หลังคาจะมุงด้วยทางมะพร้าว หญ้าคา หรือใบตองตึง ประดับประดาตกแต่งให้สวยงาม บริเวณกลางผาม จะมีผ้าขาวยาวถึงพื้นผูกไว้สำหรับโหนเชิญผีเข้าทรง ด้านหน้าผาม จะยกพื้นเพื่อทำแท่นสำหรับเครื่องเซ่น ได้แก่ หัวหมูต้ม ไก่ต้ม ข้าวตอก ดอกไม้ ขนม ผลไม้ เช่น กล้วย มะพร้าว มีผ้าโสร่งและเครื่องแต่งตัวสำหรับผู้ที่จะฟ้อนนุ่งทับลงไป

วันงานเริ่มต้น เก๊าผี หรือ ผู้หญิงที่เป็นใหญ่ที่สุดของวงศ์ตระกูล จะสักการบูชาบรรพบุรุษ ณ หอผีประจำบ้าน จากนั้นจึงเชิญผีไปยังผาม การเข้าทรงได้เริ่มต้นขึ้น เพลงบรรเลงวงปี่พาทย์ จะเริ่มขับกล่อมดนตรีเพลงอันรื่นเริง ผู้ฟ้อนรำส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ตั้งแต่เก๊าผี อายุ 70-80 ปี ไปจนถึงเด็กสาวรุ่น ๆ ผู้ชายจะรำดาบ ผีที่เข้าคนทรงจะมีบุคลิกลักษณะไม่ต่างจากคนทั่วไป บางตนขี้เล่น บางตนก้าวร้าว บางตนซุกซน บางตนเรียบร้อย ผู้ที่ถูกเข้าทรงมักจะไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไป ผู้ใหญ่ที่อายุมาก เช่น เก๊าผี ผีจะเข้านานตลอดทั้งวัน ฟ้อนรำไม่มีเหน็ดเหนื่อย ขณะที่เด็กรุ่น ๆ จะเข้า ๆ ออก ๆ

ในพิธีฟ้อนผีนั้น นอกจากจะเป็นงานเลี้ยงฉลองสนุกสนานแล้ว บางครั้งจะมีการหามคนป่วยที่เป็นสมาชิกในตระกูลเข้าร่วมพิธีด้วย เพื่อให้ผีบรรพบุรุษช่วยรักษา บางคนไปทำสิ่งผิดมา ก็ขอให้ผีบรรพบุรุษช่วยแก้ไข หรือแม้แต่ขอพรขอโชคลาภให้กับคนในตระกูลด้วย เป็นต้น
 เมื่อเย็นค่ำ ถึงเวลาที่ผีคืนถิ่น ดนตรีปี่พาทย์เงียบเสียงลง คนทรงจะเดินไปที่หอผี มีการขับจ้อยซอ เป็นกลอนสด มีขันดอกไม้ธูปเทียนพร้อมดาบ จะมีการฟ้อนดาบโบราณอ่อนช้อย จากนั้นจึงรับขันข้าวตอกดอกไม้ แล้วผีจึงออกจากร่างทรง

 หลังจากเสร็จพีธี ลูกหลานในตระกูลจะช่วยกันรื้อผาม ทำความสะอาดสถานที่ และทานอาหารเย็นร่วมกัน พูดคุยกันตามประสาครอบครัว ความผูกผันรักใคร่สามัคคีผ่านประเพณีที่ส่งต่อกันมาของชาวล้านนา ตั้งแต่อดีตกาล เพื่อตอบแทนบุญคุณผีบรรพบุรุษที่ปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลานให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข งานบุญใหญ่ ที่ชาวล้านนาจะยังคงสืบทอดรักษาประเพณีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบนี้สืบไป ตราบนานเท่านาน

Photographer : Sakkarin Suttisarn