หลากหลายชาติพันธุ์ ที่ชายแดนอาเซียน 2 : คนมอญ

04, July 2012
Share   0 
หลากหลายชาติพันธุ์ ที่ชายแดนอาเซียน 2 : คนมอญหลากหลายชาติพันธุ์ ที่ชายแดนอาเซียน 2 : คนมอญ
หลากหลายชาติพันธุ์ ที่ชายแดนอาเซียน 2 : คนมอญ

มอญ: การแสวงหาพื้นที่ที่เลือนหายไป

 
ณ รอยต่อของประเทศไทยและพม่าทางฝั่งทิศตะวันตก กลุ่มชาติพันธุ์มอญที่ในอดีตถูกรุกราน กวาดต้อนจนอาจจะสูญสิ้นอาณาเขตที่สามารถเรียกว่าชาติได้เต็มปากไปและยังคงต้องแสวงหาพื้นที่ของตนเองจวบจนปัจจุบัน ชาวมอญจากหลายพื้นที่ต้องกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณต่างๆทั้งไทยและพม่า   ¦   อาจารย์องค์ บรรจุน ชาวไทยเชื้อสายมอญ กล่าวถึงสถิติแรงงานต่างด้าวที่อพยพเข้ามาทำงานในเขตมหาชัย จังหวัดสมุทรสาครไว้อย่างน่าสนใจว่า คนไทยมักคิดว่าแรงงานที่เข้ามาเป็นชาวพม่า แต่แท้จริงแล้วร้อยละ 70 ของแรงงานต่างด้าวคือ ชาวมอญ อีกร้อยละ 30 คือ กระเหรี่ยง ทวาย คะฉิ่น คะยา ไทใหญ่ ปล่อง และพม่า
 
“...คนมอญอพยพมาอยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยทวารวดี มีบันทึกตั้งแต่สมัย พ.ศ.1443 คือรุ่นเก่า แต่รุ่นใหม่ที่มีการบันทึกอย่างชัดเจน คือยุคสมัยอยุธยา พ.ศ. 2012 สมัยสมเด็จพระนเรศวร คนมอญหนีตามเข้ามา และยังมีมอญอีกรุ่นหนึ่ง คือยุครัตนโกสินทร์ เข้ามาประมาณ 200 ปี หลังจากบ้านเมืองมอญตกเป็นของพม่าโดยเด็ดขาดแล้ว ไม่มีประเทศแล้ว เลยอพยพมาอยู่เมืองไทย...”
 
อาจารย์องค์เล่าว่า คนมอญได้อพยพเขามาในไทยรวมเจ็ดครั้งใหญ่ ส่วนมากเข้ามาอาศัยอยู่ตามที่ลุ่มใกล้แม่น้ำ กระจายไปตามภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้ คนมอญได้นำศิลปะของตนเอง เช่น ภาษา การแต่งกายและเจดีย์ทรงมอญ ติดตัวเขามาด้วย เมื่อคนมอญรวมตัวกันเป็นชุมชนจึงมีการแสดงศิลปะของตนออกมาเพื่อแสดงให้รู้ว่านี่คือชุมชนของคนมอญและเพื่อรักษาตัวตนของคนมอญไว้ไม่ให้สูญหายไป
 
อย่างไรก็ตามอาจารย์องค์ให้ความเห็นว่าประเพณีและวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ลึกลับซับซ้อน โดยเฉพาะการเดินทางติดต่อกันระหว่างชนเผ่าต่างๆในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแง่การติดต่อค้าขาย และการอพยพย้ายถิ่นเนื่องจากภัยสงครามหรือโรคระบาด เหล่านี้ทำให้ลักษณะของชนชาวมอญผสมผสานอยู่ในหลายวัฒนธรรมและหลายท้องที่ เช่น ตนกู อับดุล ราห์มัน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย มีมารดาเป็นคนไทย เคยศึกษาเล่าเรียนในไทย แต่บิดามีเชื้อสายมอญมลายู หรือจะเป็นประเพณีการลอยมดหรือลอยกระทง ของชาวหริภุญชัยหรือชาวจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน  ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเพื่อระลึกถึงบุญคุณของชาวมอญครั้งที่ชาวหริภุญชัยได้อพยพหนีโรคระบาดไปอาศัยเมืองเมาะตะมะของมอญในอดีต เป็นต้น
 
“...ถ้าพูดเรื่องเชื่อมโยงความเป็นคนที่ไม่เกี่ยวกับรัฐหรือประเทศแล้ว การค้าขายแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นมานานแล้ว ในดินแดนที่มีการเดินทางไปมาหาสู่กันตั้งแต่โบราณ การที่กระทำกันอยู่ทุกว่านี้ในฐานะระหว่างรัฐบาล ถือว่าเป็นเรื่องปาหี่ แท้จริงเส้นทางการค้าและวัฒนธรรม ไม่เคยหยุดเลย และเชื่อว่ายังคงไม่มีทางหยุด เพียงแต่เราเอามาพูดใหม่ด้วยภาษาของธุรกิจเท่านั้นเอง” อาจารย์องค์แสดงความเห็นเพิ่มเติม
 
ท่ามกลางความเคลื่อนไหวเพื่อรวมเป็นหนึ่งของอาเซียน การเปลี่ยนแปลงในพม่าดูจะถูกจับตามองมากที่สุด พม่าที่กำลังจะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยมีนางอองซานซูจีเป็นความหวังสำคัญจะส่งผลอะไรกับคนมอญหรือไม่ อาจารย์องค์ได้แสดงทัศนะไว้ว่า
 
“ความหวังมีสองระดับ คือ ระดับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง  เพราะนางซูจีเหมือนฟางเส้นสุดท้าย เกาะไว้ก่อน ให้ได้ประชาธิปไตยก่อนแล้วค่อยว่ากันทีหลัง เพราะเรารู้ว่าอย่างไรเสียนางอองซานซูจีเป็นคนพม่า เขามาหาเสียงในเมืองมอญ ในรัฐมอญเขาก็บอกว่าเขามีเชื้อมอญนิดหนึ่ง เขาไปหาเสียงในรัฐไทยใหญ่ ในรัฐฉาน เขาก็บอกมีเชื้อไทยใหญ่นิดหนึ่ง นิสัยนักการเมืองไม่เปลี่ยน ทุกประเทศคล้ายๆกัน เพราะฉะนั้นเราก็หวังประมาณหนึ่ง หวังให้ได้ประชาธิปไตยก่อน แล้ววิถีทางทางหนึ่งที่เราจะไปยุ่งกับการเมืองในรัฐสภานั่นก็เป็นเรื่องภายหลังอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เราก็มีความหวังแยกออกเป็นสองสามกลุ่มก็คือ  กลุ่มหนึ่งก็เชียร์อองซานไปก่อน อีกกลุ่มหนึ่งก็ออกมาตั้งพรรคคนมอญ ตอนนี้ในพม่าสามารถก็สามารถตั้งพรรคมอญได้แล้วแต่ว่าต้องอยู่ในป่า นั่นคือ พรรคมอญใหม่ ..”
 
การเปลี่ยนแปลงเพื่อรวมเป็นอาเซียนอาจกำลังเกิดขึ้น แต่คนมอญยังคงต้องค้นหาพื้นที่ของตนเองต่อไป การต่อสู้ของคนมอญยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน
(จบ ตอน 2)