หลากหลายชาติพันธุ์ ที่ชายแดนอาเซียน 3 : ชาวเขมรและมุสลิม

11, July 2012
Share   0 
หลากหลายชาติพันธุ์ ที่ชายแดนอาเซียน 3 : ชาวเขมรและมุสลิมหลากหลายชาติพันธุ์ ที่ชายแดนอาเซียน 3 : ชาวเขมรและมุสลิมหลากหลายชาติพันธุ์ ที่ชายแดนอาเซียน 3 : ชาวเขมรและมุสลิม
หลากหลายชาติพันธุ์ ที่ชายแดนอาเซียน 3 : ชาวเขมรและมุสลิม

เขมร: การเดินทางที่ส่งผ่านวัฒนธรรม

 
เมื่อกล่าวถึง ASEAN ผู้คนล้วนนึกถึงการเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่าง แต่ทว่าการเดินทางอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นไม่ได้เพิ่งมีมา แต่ยังมีมานานแล้ว ซึ่งนอกจากในเรื่องของการค้าการขายแล้ว การเดินทางยังก่อให้เกิดกาแพร่กระจายของแนวความคิดและวัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ สู่พื้นที่อื่นด้วย   อาจารย์สรเชษฐ์ วรคามวิชัย (ภาพบน) ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ได้นำเสนอแนวคิดนี้ผ่านกลุ่มชาติพันธุ์เขมรหรือกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในไทยที่ซึ่งได้รับมรดกทางความคิดมาจากชาวอินเดีย ทั้งองค์ความรู้สถาปัตยกรรม ความเชื่อและขนบธรรมเนียมต่างๆ
 
“สถาปัตยกรรม ประเภทปราสาทในจังหวัด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ได้รับอิทธิพลจากเขมรมาตั้งแต่อาณาจักรขอมโบราณ หรือแม้แต่ภาษาไทยที่เราใช้บางคำ ก็มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมขอมด้วยกันทั้งสิ้น จริง ๆ แล้ว ชาวเขมรหรือกัมพูชา ไม่ใช่ใคร แต่คือชาวอินเดียสมัยโบราณได้อพยพมาตั้งรกรากที่ดินแดนกัมพูชา ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับ เทวดา ศาสนาพราหมณ์ ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะในรูปแบบต่างๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม เช่น ภาพการกวนเกษียรสมุทร ได้ถูกนำเสนออยู่ที่ปราสาทบายนในกัมพูชา รวมทั้งปราสาทหินพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ด้วย”
 
องค์ความรู้และรากเหง้าทางภาษา วัฒนธรรมถือเป็นของล้ำค่า แต่ทว่าน่าเสียดายยิ่งนักที่ทุกวันนี้มรดกสูงค่ากำลังค่อยๆเลือนหายไป อาจารย์สรเชษฐ์ ได้กล่าวว่าในหลายๆพื้นที่ วัยรุ่นสมัยใหม่ไม่สามารถพูดภาษาเก่าอันเป็นภาษาถิ่นได้แล้ว
 
“พูดถึงชาติพันธุ์ทั่วโลก สมัยนี้ก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ในบางพื้นที่ต้องมีการติดป้ายบอกว่า ให้พูดภาษาท้องถิ่นกับลูกหลานบ้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ภาษาเขมรก็เริ่มจะหมดไป อย่างในเขต บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ คนวัย 20-30 ขึ้นไปยังพูดภาษาเขมรได้อยู่บ้าง แต่รุ่น 15 ปี พูดไม่ได้แล้ว.....ภาษาในยุคนี้จะเป็นสากลหมด จะใช้ภาษาเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ก็คงไม่เสมอไป”
 
 
มุสลิม: ศรัทธากลางความขัดแย้ง
 
วัฒนธรรมของชาวไทยมุสลิมที่ดินแดนภาคใต้มีรากฐานจากความเชื่อทางศาสนา จนมีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์ การละหมาดวันละ 5 เวลา เสียงสวดมนต์ในมัสยิด ความเชื่อ ความงดงามทางวัฒนธรรม ทำให้ นเธศ งามสม นักเขียนและช่างภาพของอนุสาร อสท. ซึ่งเคยคลุกคลีถ่ายภาพและพูดคุยกับชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ หลงเสน่ห์มนต์ขลังแห่งแดนใต้
 
“ผมเริ่มทำงานกับอนุสาร อสท. ตั้งแต่ปี 2542 ผมได้มีโอกาสเดินทางไปที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวพวกเขา ผมเป็นคนพุทธ แต่มีโอกาสเข้าไปเก็บภาพในมัสยิดขณะที่ชาวมุสลิม กำลังทำละหมาด แม้ว่าผมจะไม่เข้าใจภาษามลายูที่พวกเขาใช้กัน แต่ผมรับรู้ได้ถึงความสงบ เยือกเย็นของบทสวดของพวกเขา ตรงนี้ที่ผมมองว่า มันคือความลึกลับ แต่ความมีเสน่ห์ของชาวไทยมุสลิม คือรอยยิ้ม น้ำใจ และความเอื้ออารีที่มีต่อคนต่างถิ่น เสียงหัวเราะพูดคุยหยอกล้อ คือภาพทั่วไปที่ผมสามารถพบเห็นได้ในตลาดสดที่นราธิวาส และที่อื่นๆ แต่ภายหลังปี 47 เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ ทุกอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มีความหวาดระแวง ความเกลียดชัง ความสงสัย เข้าแทนที่ พื้นที่แห่งนี้ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป”
 
แม้ว่าความไม่สงบจะเกิดขึ้นที่ปลายด้ามขวานจะรุนแรงเพียงใด ชาวมุสลิมยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นลักษณะเฉพาะ และปรากฏอยู่ในทุกพื้นที่ชุมชนที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ เอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวมุสลิมที่เขตประเวศ ในกรุงเทพ คือภาพสะท้อนที่ชัดเจน สตรีชาวมุสลิม ยังคงใส่ผ้าคลุม ฮิญาบ สีสวย เหมือนกันกับชาวมุสลิมในภาคใต้ ยิ่งตอกย้ำความเป็นหนึ่งเดียวของชาวมุสลิมได้อย่างชัดเจน
 
“หลังจากปี 2550 เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เริ่มดีขึ้น ผมสามารถเข้าพื้นที่เพื่อไปทำสารคดีได้เหมือนเดิม ตลาดสดภายในเมืองนราธิวาส บรรยากาศเริ่มกลบคืนมา ทางฝ่ายรัฐ ชาวพุทธ เริ่มเห็นปัญหาความขัดแย้ง ความแตกแยกต่างๆ เดี๋ยวนี้เขากลับมามีรอยยิ้ม พูดคุย เสียงหัวเราะ เริ่มกลับมาแล้ว และสิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุด คือเมื่อผมไปที่อำเภอเบตงเพื่อทำสารคดี ที่นั่นมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ราว 95% ก่อนที่ผมจะเดิมทางกลับ โต๊ะอิหม่าม เขาได้กล่าวอวยพร ก่อนกลับมาเป็นภาษามลายู ซึ่งแปลได้ว่า ขอให้พระคุ้มครอง เป็นคำพูดที่จะใช้คุยกันกับคนมุสลิมด้วยกัน แต่ผมซึ่งเป็นคนพุทธ ก็ได้รับคำกล่าวอันเป็นมงคลนี้ด้วยเช่นกัน นี่แสดงให้เห็นว่า บรรยากาศ ความสงบร่มเย็นที่ดินแดนแห่งนี้ กำลังจะกลับมาเหมือนเดิม” ธเนศ กล่าว
 
อาเซียนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ การจะรวมกันเป็นนึ่งได้นั้นคนในประชาคมต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความเข้าใจ ดังที่ปรัชญาของอาเซียน คือ Caring and sharing รู้เขารู้เรา เอาใจเขาใส่ใจเรา ซึ่งการท่องเที่ยวอาจเป็นอีกวิธีที่ทำให้คนในอาเซียนรู้จักซึ่งกันและกัน เรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเพื่อในประชาชนแต่ละประเทศก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2015 นี้ได้อย่างสมบูรณ์