ญี่ปุนกับการทหารหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

09, August 2012
Share   0 
ญี่ปุนกับการทหารหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ญี่ปุนกับการทหารหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นับตั้งแต่ระเบิดปรมาณู Little boy ถล่มเมืองฮิโรชิมา ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 และ Fat man ที่นางาซากิในวันที่ 9 สิงหาคม ในปีเดียวกัน บทบาททางทหารของแดนอาทิตย์อุทัยได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ที่ญี่ปุ่นต้องปรับเปลี่ยนอำนาจของตน เพื่อหาที่ยืนบนเวทีโลก นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ผ่านการเปลี่ยนจากทางการทหารจากหน้ามือเป็นหลังมือ   ¦

 ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้เสริมสร้างอำนาจทางการทหารให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น หลังจากญี่ปุ่นถูกบีบบังคับให้เปิดประเทศจากสหรัฐอเมริกา จนท้ายที่สุดญี่ปุ่นก็ได้เริ่มเปิดฉากสงครามในแถบเอเชียแปซิฟิก ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ด้วยการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล และการยาตราทัพเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่นสามารถยึดครองประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทั้งหมด แต่แล้วกองทัพจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นอันเกรียงไกรก็มีอันต้องพับเสื่อพ่ายแพ้ไปอย่างเสียไม่ได้หลังจากต้องเผชิญหน้ากับระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ

ญี่ปุ่นจำต้องยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม ปีเดียวกัน และทางฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาได้ส่งพลเอกดักลาส แมกอาร์เธอร์เข้ามาควบคุม อีกทั้งญี่ปุ่นยังต้องสูญเสียสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งอันเป็นองค์ประกอบที่ขาดมิได้ของการดำรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของประเทศ นั่นคือ “กำลังทหาร” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลพวงจากการพ่ายแพ้ในสงครามนั้นด้วย กองกำลังต่างๆถูกสลายและปลดอาวุธ และยังถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำการสั่งสมกำลังทางทหารโดยเด็ดขาด โดยให้เหลือไว้ได้แค่เพียงพอต่อการป้องกันตนเอง ซึ่งนั่นทำให้ญี่ปุ่นสามารถคงอำนาจทางการทหารไว้ได้แค่ในรูปแบบของ กองกำลังป้องกันตนเอง (JSDF: Japan Self-Defense Forces) หรือที่คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปเรียกกันว่า Jieitai (自衛隊) หรือเรียกสั้นๆว่า SDF และมีขอบเขตการใช้กำลังเพียงแค่ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 9 ซึ่งถูกร่างขึ้นโดยสหรัฐอเมริการะบุไว้ ว่าห้ามญี่ปุ่นใช้กำลังทหารเข้าตัดสินข้อพิพาท ห้ามญี่ปุ่นเข้าสู่สงคราม ทำให้ทหารญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองไม่เคยยิงปืนแม้แต่นัดเดียว ยกเว้นการซ้อมยิง อีกทั้งการซ้อมรบของทหารญี่ปุ่นก็ทำกันบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ญี่ปุ่นเอง หรือนัยหนึ่งก็คือ ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้ “ร่มธงนิวเคลียร์” ของสหรัฐอเมริกา
 
และด้วยข้อจำกัดของกฏหมาย และไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้าไปในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทใดๆ ทำให้หน้าที่ของ SDF จึงมุ่งเน้นไปที่การป้องกันประเทศ และการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณะภัยเป็นส่วนใหญ่ นับว่าเกิดผลดีต่อญี่ปุ่นไม่น้อย เพราะไม่ต้องการจัดสรรงบประมาณด้านการทหาร เงินทุกเยนถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจนญี่ปุ่นก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่ยอมรับกันทั่วไป เช่นเดียวกับเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม แต่พัฒนารุดหน้าเกินประเทศผู้ชนะสงครามด้วยซ้ำ
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อญี่ปุ่นมีความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ คนญี่ปุ่นมีการกินดีอยู่ดี พวกเขาเริ่มคิดถึงอำนาจ สถานะและบทบาทของญี่ปุ่นที่ควรเพิ่มมากขึ้นในโลก โดยเริ่มจากความพยายยามก่อนหน้านี่ที่ ญี่ปุ่นออกกฎหมายให้สามารถส่งทหารไปร่วมกับสหประชาชาติในภารกิจบรรเทาทุกข์ได้ ในปี 1992 และตั้งแต่ต้นปี 2004 รัฐสภาผ่านกฎหมาย 3 ฉบับให้อำนาจรัฐบาลในการตอบโต้หากมีการโจมตีญี่ปุ่นได้โดยเฉพาะจากเกาหลีเหนือ 
 
ปัจจุบันญี่ปุ่นเริ่มตื่นตัวถึงขีดจำกัดและความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามของตนอันเป็นผลมาจากการที่เกาหลีเหนือนั้นเริ่มแสดงท่าทีคุกคามด้วยการซ้อมยิงจรวดข้ามเกาะญี่ปุ่นไปตกในทะเลญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี 1998 นอกจากนี้เกาหลีเหนือเองก็ยังคงพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และมีจรวดที่มีพิสัยครอบคลุมเกาะญี่ปุ่นทั้งหมด 100-200 ลูก 
การที่เกาหลีเหนือครอบครองอาวุธเคมีชีวภาพ และทดลองยิงจรวดข้ามตอนเหนือของเกาะญี่ปุ่นไปตกในทะเลญี่ปุ่น ด้วยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่นกลับทำให้ญี่ปุ่นก็ได้แต่นั่งรอดูอยู่เฉยๆ ปล่อยให้เกาหลีเหนือแสดงแสนยานุภาพ และการประกาศเป็นนัยให้โลกรู้ว่า ถ้าญี่ปุ่นทำการแทรกแซงทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือเมื่อใด เมื่อนั่นก็จะหมายถึงสงคราม ที่ญี่ปุ่นเองก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากรอพึ่งสหรัฐอเมริกาเพียง อย่างเดียว 
 
 
จบ part 1
 
References
  • http://www.wsws.org/articles/2003/dec2003/japa-d16.shtml
  • http://www.apcss.org/Publications/Japan%27s%20Dispatch%20of%20the%20GSDF%20to%20Iraq.Fouse.doc.pdf