กว่าจะเป็นเรือพิธี

27, October 2012
Share   0 

ขบวนพยุหยาตราชลมารค นั้นมีหลักฐานว่าเป็นพระราชพิธีหลวงมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ปรากฏไว้ว่า พระร่วงเจ้า หรือพระมหาธรรมราชา 1 ทรงใช้เรือออกลอยกระทงในพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสองเป็นลำดับต้น ¦และกลายเป็นพระราชพิธีหลวงสืบต่อกันมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์โดยเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากการลอยกระทงเป็นการเสด็จถวายผ้าพระกฐินในปัจจุบัน

กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ครั้งนี้จัดขึ้นในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 84 พรรษาหรือ 7 รอบ แต่เดิมกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554 แต่จำเป็นต้องเลื่อนการจัดกระบวนไปเป็น เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เนื่องจากในช่วงดังกล่าวของ ปี 2554 ได้เกิดเหตุมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ กระแสน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงและไหลแรงจนไม่สามารถประกอบพระราชพิธีได้

รูปกระบวนเรือในราชพิธีใหญ่ครั้งนี้ จัดเป็น 5 ริ้ว ประกอบด้วย ริ้วกลางมีเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ แซมด้วยเรือแตงโมและเรือตำรวจ ริ้วขนาบข้างริ้วกลางเป็นเรือรูปสัตว์ 8 ลำ ได้แก่ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี จากนั้นจึงเป็นริ้วนอกสุดประกอบด้วย เรือดั้ง 22 ลำ เรือแซงและเรืออื่น ๆ รวมทั้งกระบวน 52 ลำ

เส้นทางในพระราชพิธีขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคถวายผ้าพระกฐินจากท่าวัดราชาฯจนถึงวัดอรุณฯ ต้องใช้เวลาพายและขับเห่กว่า 2 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น และตลอดเส้นทางกว่า 4 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งน้ำจะมีประชาชนที่สนใจเข้ารับเสด็จและชมพระบารมีอย่างเนืองแน่นทุกครั้งไป นับเป็นพระราชพิธีอันงดงามและมีชื่อเสียงระดับสากลที่ครั้งหนึ่งในชีวิตของคนไทยควรต้องได้ชม