At Berkeley

24, June 2014
Share   0 
At Berkeley
At Berkeley

หนังสารคดีเปิดเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา Salaya International Documentary Film Festival (Salaya Doc) ครั้งที่ 4 At Berkeley ผลงานของ Frederick Wiseman ผู้กำกับหนังสารคดีมือเก๋าในวัย 84 ปี กับความยาวของตัวหนังที่นานกว่า 244 นาที (4ชั่วโมง4นาที) ที่หลายคนบอกว่าถึงนานแต่ไม่น่าเบื่อ เพราะการเลือกนำเสนอในแบบหนังสารคดีคลาสสิคของไวส์แมนที่ท้าทายผู้ชมและผู้สร้างหนังสารคดีในยุคปัจจุบัน

ไวส์แมน เป็นผู้กำกับสารคดีที่มีผลงานมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 ปัจจุบันเขามีผลงานมากกว่า 40 เรื่องทั้งหนังสารคดีเรื่องยาว หนังสารคดีขนาดสั้น และสารคดีสำหรับโทรทัศน์ หนังของเขาเป็นหนังที่ต้องใช้ความคิดและมีการหาข้อมูลที่จริงจัง บ่อยครั้งพูดถึงประเด็นที่หนักในสังคม เรียกว่าหนังสารคดีของเขาเป็นหนังที่เรียกร้องผู้ชมที่มีการศึกษาอยู่พอสมควร

At Berkeley พาเราเข้าไปสำรวจการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ในแง่มุมต่างๆโดยเข้าไปนั่งในห้องเรียนหลากหลายศาสตร์หลายคณะ การอภิปรายกลุ่มเล็กๆในชั้นเรียนจนถึงการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่มีชื่อเสียงระดับโลก และที่สำคัญการเข้าไปนั่งในที่ชุมนุมทำกิจกรรมของนักศึกษาจนถึงที่ประชุมมหาวิทยาลัยที่มีการถกเถียงและเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการศึกษาในด้านต่างๆ เรียกได้ว่าไวส์แมนพาเราไปเห็นทุกด้านทุกมุมตั้งแต่แก่นรากจนถึงยอดใบของเบิร์คเลย์เลยทีเดียว

หนังในบางช่วงมีความยาก ด้วยความรู้เฉพาะทางอย่างด้านชีวเคมี หรือด้านปรัชญา ดาราศาสตร์ เศรษฐกิจ แม้ว่าจะดึงความสนใจของคนที่ไม่ได้สนใจในศาสตร์พวกนี้ยากสักหน่อย แต่เป็นการสะท้อนความเป็นสหวิทยาการและความจริงของการศึกษาในเบิร์กเลย์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง การเล่าเรื่องเป็นเป็นก้อนๆ ไม่เชื่อมโยงกัน อาจทำให้หนังดูเหมือนไม่มีโครงกระดูกกลางของเรื่อง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะเห็นโครงลางๆที่มีการเกริ่นมาในหลายๆครั้ง แต่หนังก็ไม่ได้ให้คำตอบหรือบทสรุปอะไรในประเด็นต่างๆที่พูดถึง นอกไปจากคำถามในใจผู้ชมให้ครุ่นคิดตามในความเห็นอันหลากหลายจากบุคคลในหนัง

ตลอดทั้งเรื่องกว่า4ชั่วโมง หนังเรื่องนี้ จะไม่ปรากฏทั้งเสียงบรรยายเพื่อเกริ่นเรื่อง เชื่อมเรื่องหรือสรุปความใดๆทั้งสิ้น ไม่มีการสัมภาษณ์ (Talking Head) ไม่มีใครสักคนที่พูดกับกล้องหรือจ้องมองกล้อง ตลอดจนการขึ้นชื่อและตำแหน่งของผู้พูดในภาพก็ไม่มีปรากฏอีกเช่นกัน ไวส์แมนพากล้องเข้าไปแล้วนั่งเป็นหนึ่งคนในห้องๆนั้นที่เฝ้าดูผู้คนโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์หรือส่งผลกระทบใดๆกับสิ่งที่เขาบันทึก ถือเป็นอุดมคติในหนังสารคดีแนวคลาสสิคยุคทศวรรษที่ 1970 ที่สร้างความน่าเชื่อถือโดยการทำลายการมีอยู่ของผู้สร้าง ว่าไม่ได้ควบคุมหรือส่งผลทำให้เกิดการกระทำต่างๆหรือแม้แต่การแสดงความคิดเห็นใดๆ

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องใหญ่ถ้ามองประวัติศาสตร์ของหนังสารคดีอันยาวนาน แต่ในยุคทศวรรษ 2010 นี้เข้าไปแล้ว ท่ามกลางหนังสารคดีที่เร่งเร้าโสตประสาทผู้ชมด้วยกลวิธีต่างๆทั้งกราฟฟิค ภาพ เสียง สไตล์แปลกใหม่ การที่ทำหนังความยาว4 ชั่วโมงที่ยึดมั่นในอุดมคติแบบสารคดีดั้งเดิม ทั้งสไตล์ที่ราบเรียบแต่เรียกร้องการครุ่นคิดติดตามอย่างสูงเช่นนี้ ถือเป็นการท้าทายความคิดและความอดทนของผู้ชม และแน่นอนมันเรียกร้องการคารวะต่อผู้สร้างวัย 84 ปีอย่างไวส์แมนอย่างที่สุด